นายกสภาทนายฯ ตั้งทีมลงพื้นที่ หลังผู้ประกอบอาชีพประมงระยองร้องช่วยทางกฎหมาย เหตุน้ำมันดิบรั่วกระทบระบบนิเวศและรายได้

วันที่ 5 มกราคม 65 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถ.พหลโยธิน ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและอาชีพต่อเนื่องการประมง จังหวัดระยอง ประมาณ 30 คน เดินทางมายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือทางกฎหมายกับสภาทนายความ กรณีเกิดเหตุน้ำมันดิบใต้ทะเล บริเวณหุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง รั่วไหลบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ทำให้ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและอาชีพต่อเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานการประมงในอ่าวจังหวัดระยอง ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับระบบนิเวศและรายได้จากการประกอบอาชีพ

โดยมี ดร.วิเชียร ซุปไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์, นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ, นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ และว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการ สิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีและปฏิบัติการ สภาทนายความ เป็นผู้รับเรื่อง

ว่าที่ร้อยตรีสมชาย ระบุว่า เหตุการณ์กรณี บริษัทแห่งหนึ่งทำน้ำมันดิบ รั่วไหลลงอ่าวระยอง ระหว่างขนถ่ายกลางทะเล เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา มากกว่า 4 แสนลิตร ทำให้ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและอาชีพต่อเนื่อง จังหวัดระยอง ได้รับผลกระทบมีน้ำมันดิบกระจายเป็นวงกว้าง ถูกพัดเข้าถ่ายฝั่ง จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า น้ำมันดิบแพร่ในทะเลกว้างกว่า 9 เท่า ของเกาะเสม็ด ทำให้ชาวบ้าน ชาวประมงได้ผลกระทบ ต่อทรัพยากรสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งที่ชาวประมงพื้นบ้านใช้เป็นที่ทำมาหากิน

ผลของน้ำมันดิบรั่วไหลและการใช้ สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันในพื้นที่ ทะเลตื้นทำให้สัตว์น้ำหลายประเภทหายไปจากบริเวณอ่าวระยอง ซึ่งปัจจุบันเรือประมง หลายประเภทต้องจอดนิ่งอยู่ท่าเรือ เนื่องจากเรือออกไปไม่มีสัตว์น้ำให้จับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก อีกทั้งความขาดแคลนนี้ยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อเนื่องไปถึงห่วงโซ่

นอกจากนี้ การประมงพื้นบ้านและเรือขนาดกลางที่หากิน ได้จากจุดที่น้ำมันดิบรั่วไหล ยังสร้างความหวาดระแวงต่อประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวที่จะตัดสินใจซื้ออาหารทะเล ทั้งที่เป็นวัตถุดิบและปรุงสำเร็จในจังหวัดระยอง ทั้งนี้ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบในครั้งนี้ ที่มาจากพื้นที่ปากน้ำระยองและเครือข่าย ต้องการที่จะยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมเพื่อการเจรจาหาข้อยุติร่วมกัน ระหว่างบริษัทก่อมลพิษกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ได้รับค่าเยียวยาที่เป็นธรรม เป็นการเรียกค่าชดเชยตามความเป็นจริงจากการสูญรายได้ที่ควรจะได้

โดยจากการได้รับความเสียหายในครั้งนี้กับทางบริษัทผู้ก่อเหตุยังมีการเยียวยาชดเชยให้ในจำนวนน้อย และระบุจะชดเชยจำกัดแค่เรือประมงที่ละเบียนไว้เท่านั้น จึงไม่เป็นเป็นธรรมกับผู้ทำประมงพื้นบ้าน ผู้ได้รับผลกระทบอื่น เกรงว่าจะมีการดึงเรื่องการชดเชยเยียวยาจนหมดอายุความในการเรียกร้องค่าเสียหาย

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นข้อเสนอของชาวบ้านในพื้นที่ ว่าเมื่อการขนส่งขนถ่ายน้ำมันดิบทางทะเลเกิดการรั่วบ่อยครั้ง เหตุใดทางนิคมอุตสาหกรรม หรือกรมเจ้าท่าไม่หารือเปลี่ยนวิธีการขนส่งน้ำมันเป็นทางบกแทน

ด้านนายวิเชียร นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า กรณีนี้ส่งผลกระทบกับประชาชนเป็นจำนวนมาก แบ่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบและต้องการเยียวยาเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มประมงพื้นบ้าน จำนวนเรือกว่า 150 ลำ, กลุ่มพ่อค้า-แม่ค้า ที่ขาดทุนจากการค้าขายสัตว์น้ำ ที่ซื้อต่อจากเรือประมงและขายไม่ออก จำนวนกว่า 50 คน และกลุ่มลูกจ้างเรือประมง จํานวนกว่า 50 คน

นอกจากนี้ทางสภาทนายจะมีการตั้งทีมลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบ รวมไปถึงผลกระทบด้านสุขภาพอีกด้วย ว่าการรั่วน้ำมันดิบส่งผลระยะสั้น ระยะยาวต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างไรหรือไม่

เบื้องต้นสภาทนายความได้กำหนดแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายไว้ ดังนี้

1.) ใช้สิทธิในการเรียกร้องให้บริษัทที่เกี่ยวข้อง ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96 และ 97

2.) ดำเนินการให้ประชาชนผู้เสียหายตั้งตัวแทนสมาชิกกลุ่มเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อดำเนินคดีแบบกลุ่ม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เนื่องจากจะไม่เป็นการซ้ำซ้อนในการยื่นฟ้องคดีและเป็นการ ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการดำเนินคดีที่ศาล

3.) ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในทางคดี (การไกล่เกลี่ยในคดีสิ่งแวดล้อม) ตามพระราชบัญญัติ ไกล่เกลี่ย พ.ศ. 2562

4.) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ความรับผิดเพื่อละเมิด (มาตรา 420) ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขา เสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดีท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จ่าต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด (มาตรา 438) ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัย ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

5.) แนวทางในการให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96 ระบุว่า แหล่งกำเนิดมลพิษใดก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษอัน เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายหรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐเสียหาย ด้วยประการใด ๆ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือ ค่าเสียหายเพื่อการนั้น ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้น จะเกิดจากการกระทําโดยจงใจหรือประมาท เงินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม

เว้นแต่ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่ามลพิษเช่นนั้นเกิดจาก (1) เหตุสุดวิสัยหรือการสงคราม (2) การกระทำตามคำสั่งของรัฐบาลหรือเจ้าพนักงานของรัฐ (3) การกระทำหรือเว้นการกระทำของผู้ที่ได้รับอันตรายหรือความเสียหายเองหรือบุคคลอื่น ซึ่งมีหน้าที่ รับผิดชอบโดยตรงหรือทางอ้อม ในการรั่วไหลหรือการแพร่กระจายของมลพิษนั้น ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ซึ่งเจ้าหน้าที่หรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตาม วรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ทางราชการต้องรับภาระจ่ายจริงในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นนั้นด้วย โดยคดีจะมีอายุความ 10 ปี

มาตรา 97 ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้ สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไป