21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศใช้ ‘พุทธศักราช’ (พ.ศ.) เป็นศักราชประจำชาติ แทน ‘รัตนโกสินทร์ศก’ (ร.ศ.)

วันนี้ เมื่อ 110 ปีก่อน รัชกาลที่ 6 ประกาศ เปลี่ยนมาใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) แทนรัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) หลังใช้มาได้เพียง 24 ปี (พ.ศ. 2432-2455) 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงมีพระราชดำริให้ใช้ ‘พุทธศักราช’ (พ.ศ.) เป็นศักราชประจำชาติ แทน ‘รัตนโกสินทร์ศก’ (ร.ศ.) เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา และเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศต่างๆ ที่นับถือพุทธศาสนา จึงได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 131 (พ.ศ. 2455) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ ‘พระพุทธศักราช’ ในราชการทั่วไป โดยถือเอาวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 เป็นวันเปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ข้อมูลจากสำนักข่าวสับปะรด ระบุว่า รัตนโกสินทร์ศก หรือ รัตนโกสินทร์ศักราช (ร.ศ.) ถูกกำหนดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยเริ่มนับจากปีที่มีการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง คือ พ.ศ. 2325 นับเป็นรัตนโกสินทร์ศก 1 (ร.ศ. 1) แต่ในทางพระพุทธศาสนา ยังคงใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) ตามธรรมเนียมที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

โดย ประเทศไทย กัมพูชา และ สปป.ลาว เริ่มนับ พ.ศ. 1 เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วครบ 1 ปี ส่วนที่ศรีลังกาและเมียนมา เริ่มนับปีพุทธศักราชตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือเมื่อ 544 ปีก่อนคริสตศักราช พุทธศักราชของศรีลังกาและเมียนมาจึงเร็วกว่าไทย 1 ปี

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะใช้พุทธศักราชและรัตนโกสินทร์ศก ประเทศไทยเคยใช้ ‘มหาศักราช’ (ม.ศ.) และ ‘จุลศักราช’ (จ.ศ.) มาก่อน